อนุรักษ์ภูมิปัญญา พัฒนาวิถีไทย


มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า

งานตีทองคำเปลว ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๗ > คลิก

        งานตีทองคำเปลว เป็นงานศิลปะหัตถกรรมของไทยมาแต่ครั้งโบราณ ช่างฝีมือทำโดยใช้ทองคำแท้ทำการรีดแผ่เป็นแผ่นบางนำมาตัดแล้ววางลงบนกระดาษซ้อนกัน ๗๐๐-๘๐๐ แผ่น บรรจุในกุบแล้วใช้ค้อนในการตีแผ่นทองคำให้บางที่สุด แล้วตัดด้วยไม้ไผ่เป็นแผ่นวางในกระดาษ เพื่อใช้ปิดงานศิลปะบางชนิดเพื่อให้งดงาม แวววาว เช่น ปิดลงบนไม้แกะสลักเป็นลวดลาย พระพุทธรูป ลายรดน้ำ แต่ละขั้นตอนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความอดทนอย่างมากโดยเฉพาะการตีทองคำ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะตีทองคำให้เป็นแผ่นบางได้



 " รูปหนังใหญ่ " ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗ คลิก
       
        รูปหนังใหญ่ เป็นตัวละครสำคัญในการแสดงหนังใหญ่ ทำจากหนังวัวหรือหนังควาย มีไม้ตับผูกติดกับตัวหนังไว้สำหรับจับเชิด ปัจจุบันการแกะสลักรูปหนังใหญ่เหลือช่างฝีมือเพียงไม่กี่คนต้องใช้ความอุตสาหะ อดทน เพราะแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์ ทั้งการฟอกหนังแผ่นใหญ่ การเขียนลาย แกะสลักรูปหนังใหญ่ การระบายสี รวมถึงช่างฝีมือต้องมีการเรียนรู้รายละเอียดของตัวละครที่จะแสดงหนังใหญ่อย่างถ่องแท้ เพื่อให้ตัวละครที่สร้างขึ้นมาสวยงามและถูกต้อง 



ผ้าทอไทยวน ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๕ > คลิก

        ถือเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนที่สืบเชื้อสายจากชาวไทยวน โยนกเชียงแสนแห่งอาณาจักรล้านนา ซึ่งปัจจุบันพบอยู่ในพื้นที่ ๘ จังหวัดของประเทศไทย คือ เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ น่าน ราชบุรีและสระบุรี ผ้าทอของไทยวนมีกรรมวิธีการผลิตที่ละเอียดอ่อน วิจิตรงดงาม ทั้งการเลือกใช้สีและลวดลายที่ประณีต การทอนั้นมีทั้งเทคนิคการจก การเกาะ การยกมุข และการมัดกาด ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของชาวไทยวน โยนกเชียงแสนที่ผ้านั้นจะเกี่ยวกับชีวิตผู้คน 



โคมล้านนา ขึ้นทะเบียนเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๕ > คลิก

        โคมล้านนามีประวัติความเป็นมาจากหลักฐานภาพโคมบนผืนผ้าพระบฏ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช จากนครเชียงใหม่ ๕๐๐ ปีมาแล้ว จากการค้นพบผ้าพระบฏของกรมศิลปากรที่วัดดอกเงิน จ.เชียงใหม่ โดยการค้นพบของกรมศิลปากร โดยอาจารย์ศิลป พีระศรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ประมาณอายุเก่าเกินกว่า ๕๐๐ ปี จึงถือว่าเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมของไทย จากหลักฐานอันยาวนานซึ่งมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง โดยเป็นโคมโครงไม่ไผ่หัก ที่ต้องใช้ไม้ไผ่ปล้องยาวที่ขึ้นเฉพาะในภาคเหนือหรือในแผ่นดินล้านนาเท่านั้น หุ้มด้วยกระดาษสาหรือฝ้ายทอมือจากล้านนา ประดับลวดลายตัดฉลุกระดาษด้วยกรรไกร ซึ่งแต่ละลวดลายที่ประดับล้านมีความหมายเป็นมงคล เพื่อเป็นพุทธบูชา และบูชาบุคคลที่ควรบูชาแทบทั้งสิ้นซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของโคมล้านนา



ขันลงหินบ้านบุ ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ > คลิก

        ขันลงหินบ้านบุ เป็นเครื่องใช้โลหะผสมที่ทำด้วยฝีมือการตีแผ่โลหะผสมให้แบน เพื่อขึ้นรูปทรงขันแล้วขัดผิวให้เรียบเกลี้ยงด้วยหินจึงเรียกว่า "ขันลงหิน" ซึ่งมีการสืบทอดภูมิปัญญาการช่างมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ย่านวังไชยมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่บ้านบุ กรุงเทพมหานคร



ผ้าทอกะเหรี่ยง ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ > คลิก

        ผ้าทอกะเหรี่ยง หมายถึง การทอผ้าของชุมชนชาวไทยกะเหรี่ยงในเขตวัฒนธรรมราชบุรี มีเอกลักษณ์ที่กรรมวิธีการทอผ้าด้วยกี่เอว การทอผู้ทอต้องนั่งกับพื้น เหยียดขาตรงไปข้างหน้าทั้งสองข้าง เส้นยืนมีสายหนังคาดรัดโอบไปด้านหลัง ใช้นิ้วหรือไม้ไผ่ซี่เล็กๆ สอดด้ายพุ่ง และใช้ไม้แผ่นกระแทกเส้นด้ายให้แน่น
        ผ้าทอกะเหรี่ยงมีความสำคัญและมีคุณค่าต่อสังคม เป็นมรดกภูมิปัญญาทางศิลปะพื้นบ้านชาวไทยกะเหรี่ยงที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและอารยธรรมของกลุ่มชนและท้องถิ่น ซึ่งผ้าทอกะเหรี่ยงกับการแต่งกายจะบ่งบอกสถานภาพทางสังคม แสดงให้เห็นคุณวุฒิทางจริยธรรมและการควบคุมความประพฤติของผู้สวมใส่ควบคู่กับความสวยงามของลวดลาย ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้นำผ้ามาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การนำมาใช้ในการสืบสานประเพณีกินข้าวห่อ การส่งเสริมให้พัฒนาเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และการส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดความรู้ให้อยู่กับชุมชน



เครื่องมุกไทย ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ > คลิก

        งานช่างประดับมุกของไทย เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย ที่ทรงคุณค่ามีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียวมิอาจหาชนชาติใดทำเสมอเหมือนได้ พร้อมด้วยความงดงามทั้งด้านงานศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมที่ล้วนวิจิตรพิสดาร งานช่างประดับมุกของไทยถือเป็นงานช่างแขนงหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ ในหมู่ช่างรัก




เปี๊ยะ ขึ้นทะเบียนเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๔ > คลิก

        เปี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย พบในล้านนา ตั้งแต่สมัยราชวงศ์พญามังรายครองเมืองเชียงใหม่ เปี๊ยะได้ต้นแบบมาจากพิณน้ำเต้า ซึ่งเป็นพิณสายเดียว แต่เปี๊ยะในล้านนามีพัฒนาการที่สำคัญคือ มีสายเพิ่มขึ้น และมีการหล่อหัวเปี๊ยะด้วยสำริดอย่างสวยงาม เปี๊ยะเล่นด้วยการเกี่ยวสายด้วยปลายนิ้วหรือเล็บ เสียงของเปี๊ยะดังด้วยวิธีทำเสียงซ้อน ซึ่งเป็นเสียงที่มีกังวานและมีการกระเพื่อม จึงยากกว่าการดีดตามปกติ เปี๊ยะเกือบจะสูญหายไปจากแผ่นดินล้านนามาแล้ว แต่ได้มีการค้นพบนักเล่นเปี๊ยะ ๔ คน ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๓๐ เปี๊ยะจึงกลับมาเป็นที่รู้จัก และมีการถ่ายทอดสู่นักดนตรีรุ่นหลังพร้อมกับการเพิ่มบทบาทใหม่ ๆ แทนการบรรเลงเดี่ยวเป็นหลักอย่างในอดีต



“การนวดไทย” ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ > คลิก

        การนวดไทยมีประวัติความเป็นมายาวนาน เชื่อว่าไทยได้รับความรู้ด้านการนวดมาจากพุทธศาสนา ในยุคทวาราวดี และมีการพัฒนา สังเคราะห์ขึ้นเป็นหลักวิชา โดยมีวิธีการนวดและธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์ และมีมาตรฐาน การนวดไทยแบ่งเป็น ๒ สาย คือ สายราชสำนักและสายเชลยศักดิ์ การนวดไทย ถือเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตด้านสุขภาพ (Health Lifestyle) ที่ช่วยให้คนไทยพึ่งตนเองได้ทางสุขภาพในทุกระดับ โดยยึดหลักสัจธรรมและความเชื่อพื้นฐานเรื่องธาตุเจ้าเรือน การนวดไทยทรงคุณค่าในแง่การทำให้บุคคลมีสุขภาพกายและใจที่ดี รวมทั้งช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอีกด้วย



ก่องข้าวดอก ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ > คลิก

        ก่องข้าว คือ ภาชนะเครื่องจักสานไม้ไผ่สำหรับ ใส่ข้าวเหนียวนึ่งเพื่อการบริโภค มีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านไผ่ เมืองมาย ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
        กระบวนการผลิตก่องข้าวบ้านไผ่เมืองมายมี ๒ แบบ คือ ก่องข้าวขาว สานด้วยตอกผิวไม้ไผ่สีธรรมชาติ และก่อง ข้าวดอก ใช้ตอกผิวไม้ไผ่ย้อมสีมะเกลือ สานสลับกับตอก สีธรรมชาติ ยกดอกเป็นลวดลายเฉพาะด้านนอก ขาก่องข้าว ทำด้วยไม้สัก หูร้อยเชือกทำด้วยหวาย โดยทั่วไปก่องข้าวดอก จะมีรูปทรงต่างๆ กัน เช่น ก่องข้าวคอกิ่ว ก่องข้าว คอเลิง และลวดลายหลายแบบ เช่น ลายดอกหลวง ลายดอกจันแปดกลีบ ลายดอกกำบ้ง ลายดอกกำบี้ ลายดอกกาบจุม เป็นต้น คุณลักษณะพิเศษของก่องข้าวดอกบ้านไผ่เมืองมาย คือ สาน ๒ ชั้น ทำให้ระบายอากาศและรักษาความชื้นได้ดี ช่วยป้องกันไม่ให้ข้าวแฉะหรือแห้งเกินไป รักษาคุณภาพ ของข้าวไว้ได้นาน



ปราสาทศพสกุลช่างลำปาง ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ > คลิก

        ปราสาทศพเป็นเครื่องประกอบพิธีงานศพของชาวล้านนาที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ มีรูปทรงเป็นปราสาทสำหรับรองรับหีบศพในพิธีประชุมเพลิง แต่เดิมสร้างสำหรับพิธีงานศพพระเถระและชนชั้นปกครอง เป็นรูปปราสาทศพนกหัสดีลิงค์ ช่างฝีมือจะใช้ไม้เนื้ออ่อนประกอบเป็นโครงสร้างแต่งด้วยกระดาษทากาว ประดับด้วยฉลุลวดลายหลากสีสัน รวมถึงประดับด้วยผ้าโปร่งให้สวยงาม ศิลปะการสร้างปราสาทศพพบได้ที่จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา การสร้างปราสาทที่สวยงามให้กับผู้วายชนม์เป็นครั้งสุดท้าย นับเป็นสัญลักษณ์การให้เกียรติยกย่องและส่งดวงวิญญาณให้ไปสถิตอยู่บนวิมานสรวงสวรรค์


อ่านวารสารวัฒนธรรม
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ > คลิก

https://sites.google.com/a/hi-supervisory5.net/npt2/haelng-reiyn-ru-phumipayya/wisdom/2018-06-07_13-36-22.jpg

ภาพยนตร์แอนิเมชั่นรามเกียรติ์ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จากจิตรกรรมรอบพระระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ตอนรามาวตาร  > คลิก


Comments