วันเกิดพระร่วงฯ

วันเกิดพระร่วงโรจนฤทธิ์ 2 พฤศจิกายน  พ.ศ.2458
ภาพการค้นพบพระเศียรพระร่วงโรจนฤทธิ์

        ปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระยุพราช เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ทอดพระเนตร พระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย (จังหวัดสุโขทัย) กอปรด้วยพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ชำรุดมากเหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานครฯ

https://sites.google.com/a/hi-supervisory5.net/npt2/theskal/phrarwng/10378094_765852723459463_4381244447155427973_n.jpg

        พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของ พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วไป ชื่อเต็มก็คือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2466 แต่ประชาชนทั่วไป จะเรียกว่า หลวงพ่อพระร่วง หรือ พระร่วงโรจนฤทธิ์

        พระร่วงโรจนฤทธิ์ มีขนาดความสูงวัดจากพระบาทถึงพระเกศ 7.42 เมตร หรือราว 12 ศอก 4 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติศิลปะแบบสุโขทัย ประทับยืนอยู่บนฐาน โลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยมนิ้วพระหัตถ์ และพระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ยื่นออกไปข้างหน้าระดับพระอุระ เป็นกิริยาห้าม มีพระอุทรพลุ้ยออกมา ห่มจีวรบางคลุม แนบติดพระวรกาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ ทำด้วยโลหะทองเหลือง หนัก 100 หาบ

        การอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์ เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2457 จำเป็นต้องแยกชิ้นมาและมาประกอบเข้าด้วย กันที่จังหวัดนครปฐมแล้วเสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์
 
        ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาสมหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร"

https://sites.google.com/a/hi-supervisory5.net/npt2/theskal/phrarwng/558000012245301.JPEG

        หลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตแล้ว ตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่าให้ บรรจุพระอังคารของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระร่วงฯ ที่องค์พระ ปฐมเจดีย์ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2469 จึงได้ทำพิธีบรรจุ พระบรมราชสรีรังคาร ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ตาม พระประสงค์ทุกประการ 

        ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 หลังจากการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระสรีรางคาร มาประดิษฐานไว้เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารของพระสวามี 

        และในปี พ.ศ. 2555 หลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระสรีรางคาร มาประดิษฐานไว้เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารของพระชนกนาถ และพระสรีรางคารของพระชนนี

        และได้กำหนดให้วันที่ 2 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็นวันเกิดของพระร่วงโรจนฤทธิ์







        ส่วนงานเทศกาล นมัสการ องค์พระปฐมเจดีย์ ถูกกำหนดขึ้นในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน เป็น ประจำทุกปี

        ในปี 2561 นี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-27 พฤศจิกายน ณ องค์พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม  เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีเทศกาลนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ ณ องค์พระปฐมเจดีย์ และยังเปิดโอกาสให้ชาวพุทธทั่วโลกบูชาพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระปฐมเจดีย์ และนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์ ภายในงานมีการออกร้านแสดงสินค้าและการออกร้านมัจฉากาชาด ของสำนักงานเหล่ากาดจังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พ่อค้า แม่ค้าและเกษตรกรได้มีโอกาสนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผลิตผลทางการเกษตร มาจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป

https://sites.google.com/a/hi-supervisory5.net/npt2/theskal/phrarwng/nkpt2018.jpg

https://sites.google.com/a/hi-supervisory5.net/npt2/theskal/phrarwng/58906b085b5aa0224e8b46dd-2-full-ideas.jpg

https://sites.google.com/a/hi-supervisory5.net/npt2/theskal/phrarwng/%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%9F1.jpg



ภาพถ่ายองค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 5


ภาพถ่ายเก่าองค์พระปฐมเจดีย์ในปี พ.ศ. 2468

https://sites.google.com/a/hi-supervisory5.net/npt2/theskal/phrarwng/K4197259-37.jpg

พระปฐมเจดีย์ เข้าใจว่าถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 
ภาพจากหนังสือ Buddistsche Tempelangan in Siam ของ คาร์ล ดอห์ริง พิมพ์เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2463 หอสมุดแห่งชาติ

Comments