นารีรัตนาเจ้าฟ้าของคนเดินดิน


        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2498 พระองค์ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงระดับมัธยมศึกษา จากนั้น ทรงเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และทรงศึกษาขั้นปริญญาดุษฎีบัณฑิตในสาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดการทรงหนังสือมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงพระปรีชาสามารถในทางอักษรศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย หรือภาษาต่างประเทศหลายภาษา รวมทั้งทรงพระปรีชาสามารถด้านดนตรีไทย เป็นอย่างสูง นอกจากนี้ ทรงช่วยดูแลและแบ่งเบาพระราชภารกิจสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระราชมารดาไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ ทรงเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติทุกแขนงและในการดำเนินการกิจการโครงการพระราชดำริทุกโครงการด้วยทรงตั้งพระทัยที่จะยกระดับฐานะ ความเป็นอยู่ การศึกษาของราษฎรให้ดีขึ้นตามพระราชปนิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

        นอกจากนี้ ยูเนสโกประกาศพระเกียรติคุณยกย่องให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นทูตสันถวไมตรี ประจำปี พ.ศ.2548 ด้วยพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงสงเคราะห์แก่เด็กและเยาวชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน รวมทั้งทรงให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษาและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ



ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (2 เมษายน 2558)

https://sites.google.com/a/hi-supervisory5.net/npt2/si-rin-thr/131517.jpg?attredirects=0
        รายละเอียดรูปตราสัญลักษณ์ประกอบด้วย “อักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ภายในกรอบสุพรรณเบญจเพชรรัตน์ อักษร “ส.” สีม่วงชาดแก่ อักษร “ธ.” สีขาวบนพื้นสีม่วงครามอ่อน เป็นสีวันพระราชสมภพ ดวงเพชรรัตน์ 5 ดวงหมายถึง ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ โดยอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” อยู่ภายใต้พระชฎาพระกลีบปักพระยี่ก่าทองไม่ประกอบพระกรรเจียกจร เบื้องหลังพระชฎามีพระบวรเศวตฉัตร (พระสัตตปฎลเศวตฉัตร) คือ ฉัตรขาว 7 ชั้น แต่ละชั้นมีระบายขลิบทองแผ่ลวด 3 ชั้น ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชกุมารีทั้งสองข้าง กรอบพระนามาภิไธยมีรูปเทพยดา พระกรหนึ่งประคองเชิญพระสัตตปฎลเศวตฉัตร พระกรหนึ่งกระชับเถาว์บัวทองไว้ขัดพระขรรค์ ทรงเศวตพัสตราภรณ์เขียนทอง เทพยดาข้างเลข 6 (ด้านซ้าย) ทรงพระชฎาเดินหนปักพระยี่ก่าดอกไม้ทองทัดพระกรรเจียกจร และเทพยดาข้างเลข ๐ (ด้านขวา) ทรงพระชฎามหากฐิน (พระชฎาห้ายอด) ปักพระยี่ก่าดอกไม้ทองทัดพระกรรเจียกจร หมายถึง เทพยดาทรงมาบริรักษ์เฉลิมฉลองในมหามงคลกาลนี้ ให้ทรงเจริญพระสิริสวัสดิ์พูนพิพัฒน์พระเกียรติยศยิ่ง พ้นสิ่งสรรพทุกข์โรคันตรายทั้งปวง สำหรับเถาว์บัวทอง หมายถึง ทรงเนาวนิเวศน์ นามว่า “สระปทุม” ใต้กรอบพระนามาภิไธย มีเลขมหามงคลว่า ทรงพระเจริญพระชนมายุ 60 พรรษาบนพื้นสีหงสบาท (ส้มอ่อนหรือสีเท้าหงส์) เป็นสีวันพฤหัสบดี ในคัมภีร์พระไสยศาสตร์ว่า เป็นมงคลอายุของวันพระราชสมภพ ถัดลงมา มีเชิงลายถมสีหงชาด (ชมพู) เขียนอักษรไทยยอดสีทองว่า “ฉลองพระชนมายุ 5 รอบ” และ “2 เมษายน 2558” บนห้องลายพื้นสีขาวถัดลงมา สะท้อนถึงทรงเชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณและการโบราณคดีทั้งปวงด้วย”



วันหนังสือเด็กแห่งชาติ


    วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น วันหนังสือเด็กแห่งชาติ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยถือเป็นปีมหามงคลที่พระองค์ท่านจะมีพระชนมายุ 50 พรรษา เพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเป็นผู้ส่งเสริมการอ่าน และ ได้ทรงประพันธ์วรรณกรรมสำหรับเด็กมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ บวกกับพระปรีชาสามารถ ด้านอักษรศาสตร์ เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวไทยและชาวต่างประเทศ และเพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นความตั้งใจของรัฐบาลในการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ 

    อีกทั้งวันที่ 2 เมษายน คือ วันเกิดของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน นักเล่านิทานผู้มีชื่อเสียง ยังเป็นวันสำคัญในระดับสากลโลก ซึ่งคณะกรรมการนานาชาติด้านหนังสือเด็กและเยาวชน (International Board on Book for Young People – IBBY) ได้ประกาศให้วันที่ 2 เมษายน เป็น “วันหนังสือเด็กนานาชาติ” อีกด้วย



วันอนุรักษ์มรดกไทย

        2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ รัฐบาลจึงกำหนดให้เป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา 

        กรมศิลปากร ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รำลึกถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติขึ้น ซึ่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 รัฐบาลซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย" ด้วยตระหนักในพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ และในฐานะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา







พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

หนังสือ
   1. หนังสือพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ
   2. หนังสือพระราชนิพนธ์ทั่วไป
   3. หนังสือพระราชนิพนธ์บทกวี
   4. หนังสือพระราชนิพนธ์แปล
   5. หนังสือพระราชนิพนธ์วิชาการ
   6. หนังสือรวมพระราชนิพนธ์
    
    เพลงพระราชนิพนธ์


บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา
 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ



ดาวน์โหลดเอกสาร 
"สมเด็จพระเทพฯเจ้าฟ้านักพัฒนา"

https://drive.google.com/a/hi-supervisory5.net/file/d/0B40IkTKuesIMN2hhMUp4cDhCemc/view?usp=sharing



วันที่ 2 เมษายน

 วันหนังสือเด็กแห่งชาติ
 วันอนุรักษ์มรดกไทย
 วันสายใจไทย
 วันรักการอ่าน
Comments