
ประวัติความเป็นมา : ประวัติการตั้งชื่อวันจักรีนั้น เนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี พ.ศ. 2325 นั้นเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และยังทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทยอีกด้วย และยังเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรีซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และได้มีการย้ายที่อีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น พระพี่นั่ง พุทไธสวรรย์ปราสาท หรือพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปของทั้ง 4 พระองค์ มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 ซึ่งการซ่อมแซม ก่อสร้าง และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล มาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน ในปีนั้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "วันจักรี" เป็นวันที่ประชาชนทุกคนควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ ![]() ตรามหาอุณาโลม เป็นตราที่แกะจากงา ลักษณะกลมล้อมรูป ปทุมอุณาโลม มีตัว “อุ” อยู่ตรงกลาง (ม้วนกลมคล้ายลักษณะความหมายของพระนามเดิมว่า "ด้วง") หมายถึงตาที่สามของพระอิศวร ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์ในการตั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ ล้อมด้วยกลีบบัว ซึ่งเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลทางพระพุทธศาสนา | พระราชประวัติพระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2325-2352) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระนามเดิมว่า “ทองด้วง” เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระอักษรสุนทรทองดี ซึ่งมีนามเดิมว่า หลวงพินิจอักษร (ทองดี) และพระราชมารดา “หยก”) ทรงพระราชสมภพ เมื่อพ.ศ. 2279 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ ได้สมรสกับธิดาคหบดีบ้านอัมพวา ตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี ได้กู้อิสรภาพและสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระปรีชาสามารถในการรบจนเป็นที่โปรดปราน นับเป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกใน พ.ศ. 2319 เมื่อถึง พ.ศ. 2325 เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการทั้งหลายจึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ต่อมาโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานคร ทรงย้ายมาประทับในพระนครใหม่ ในปี พ.ศ. 2327 พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ในราชการ ได้แก่ สงครามเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพ ในปี พ.ศ. 2328 การปกครองประเทศทรงจัดแบ่งตามแบบกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้ชำระกฎหมายบทต่างๆ ให้ถูกต้องและจารลงสมุดไว้เป็นหลักฐาน 3 ฉบับ ทางด้านศาสนา โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ. 2331 และจารฉบับทองประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามและพระพุทธรูปต่างๆเป็นอันมาก ด้านวรรณคดีและศิลปกรรม ทรงฟื้นฟูวรรณคดีไทยซึ่งเสื่อมโทมตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตกให้กลับคืนดี อีกวาระหนึ่ง ทรงส่งเสริมและอุปถัมภ์กวีในราชสำนัก บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ เช่น บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น งานทางด้านศิลปกรรมนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างพระอารามเป็นจำนวนมาก วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี จึงเป็นวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็น วันที่ระลึกมหาจักรี |