5 ตุลาคม “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และทรงได้มีพระราชดำรัสแสดงถึงความเป็นนวัตกรรมของ “โครงการแกล้งดิน” ที่ไม่มีใครทำมาก่อนและทั้งนี้ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ทำเป็นตำรา คือ “คู่มือปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร” สำหรับที่จะใช้พัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่น ๆ ต่อไป ในการนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. จึงได้จัดงานวันนวัตกรรมแห่งชาติขึ้น ในวันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2553 ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ พิธีมอบรางวัล และนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมในหลากหลายประเภท ได้แก่ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2553 รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2553 รางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม ประจำปี 2553 รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2553 (สำหรับเยาวชน) รางวัล SCG Innovation Awards รางวัล TRUE Innovation Awards และรางวัล Mitr Phol Innovation Awards ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณกันทั่วทิศานุทิศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้บำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากหลายซึ่งเป็นคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อชาวไทยและชาวโลกและเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2549 นี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระองค์เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณให้สถิตสถาพร อีกทั้งเพื่อเป็นเกียรติและสิริอันสูงยิ่งแก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและวงการนวัตกรรมไทยสืบต่อไป เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม โดยการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 ให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้ 1. เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” 2. ให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ความเป็นมาของนวัตกรรมเทิดพระเกียรติ “แกล้งดิน” เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัสกับ น.ต. กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. และเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ดังนี้ “โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่พูดมา 3 ปีแล้ว หรือ 4 ปี กว่าแล้ว ต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่ แล้วมันได้ผล ดังนั้น ผลงานของเราที่ทำที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดู เราทำอย่างนี้แล้วเขาก็พอใจ เขามีปัญหา แล้วเขาก็ไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้” | “โครงการปรับปรุงดินเปรี้ยว ควรดำเนินการต่อไปในแง่ของการศึกษาทดลอง และการขยายผลการทดลองต้องดูอย่างนี้ ทิ้งดินเอาไว้ปีหนึ่งแล้วจะกลับเปลี่ยนหรือเปล่า เพราะว่าความเปรี้ยวมันเป็นชั้นดิน ดินที่เป็นซัลเฟอร์ (sulfer) แล้วก็ถ้าเราเปิดให้มีน้ำ อากาศลงไป ให้เป็นซัลเฟอร์ออกไซด์ ซึ่งซัลเฟอร์ออกไซด์เอาน้ำเข้าไปอีกทีไปละลายซัลเฟอร์ออกไซด์ก็กลายเป็นใส่ออกไซด์ลงไป ก็เป็นกรดซัลฟุริก (sulfuric) แต่ถ้าสมมุติว่าเราใส่อยู่ตลอดเวลา ชั้นดินที่เป็นซัลเฟอร์นั้นถูกกันไว้ไม่ให้โดนออกซิเจนแล้วตอนนี้ไม่เพิ่ม....ไม่เพิ่ม acid โดยหลักการเป็นอย่างนั้น แต่หากว่าต่อไปในแปลงต่าง ๆ เพิ่มการทดลองอีกเมื่อได้แล้วทิ้งไว้มันจะกลับไปสู่สภาพเดิมหรือไม่แล้วเมื่อความเป็นกรดเพิ่มขึ้นใหม่จะพัฒนาให้กลับคืนมาสู่สภาพนี้ได้ ต้องใช้เวลา อาจจะใช้เวลาสักปีดูสภาพว่าปีไหนไม่ได้ใช้ดินมันจะเสื่อมลงไปเท่าไรแล้วจะกลับคืนมาเร็วเท่าไร” จากพระราชดำริให้ดำเนินโครงการ “แกล้งดิน” และจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว พบว่า “โครงการแกล้งดิน” เป็นโครงการที่มีความเป็นนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวอันเกิดมาจากป่าพรุในประเทศเขตร้อน และยังไม่มีที่ใดในโลกที่ใช้วิธีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว ไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จและนำมาทำเป็นตำราเผยแพร่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเป็น “นักนวัตกรรม” อย่างแท้จริง ทั้งนี้ แนวพระราชดำริดังกล่าวได้เน้นให้เห็นถึงการประสมประสานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีควบคู่กับนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ จนได้วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขดินเปรี้ยว. ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง(เพิ่มเติม) @ รถทีอาร์ ทรานส์ฟอร์เมอร์ รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ 2560 > คลิก @ ทฤษฎีแกล้งดิน แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ > คลิก @ แกล้งดิน (พ.ศ. 2522) > คลิก @ 'แกล้งดิน' อัจฉริยภาพด้านดิน > คลิก |
เทศกาลและวันสำคัญ >