วันสิ่งแวดล้อมโลก

คำขวัญ วันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2562

“Beat Air Pollution” หรือ “หยุดหมอกควันและอากาศพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม”

        วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก World Environment Day และได้มีการสถาปนาวันสิ่งแวดล้อมขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2515 หรือเมื่อราว 33 ปีที่ผ่านมา โดยได้ทำการจัดการประชุมที่เรียกว่า การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อม (UN Conference on the Human Environment) ณ กรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพิจารณาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่างๆ ที่แต่ละประเทศสมาชิกกำลังประสบอยู่อย่างเร่งด่วน ซึ่งประเด็นสำคัญในการหารือก็คือ ทุกๆ ประเทศสมาชิกต่างต้องสรรหาวิธีการดูแลแก้ไขปัญหา และให้ความตื่นตัวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของทุกภูมิภาคทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายใต้การกำกับดูแลของ องค์การสหประชาชาติ (United Nations)


ความเป็นมา วันสิ่งแวดล้อมโลก

        วันสิ่งแวดล้อมโลก : วันที่ 5 -16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 สหประชาชาติร่วมกับรัฐบาลประเทศสวีเดน ได้จัดการประชุมที่เรียกว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” (UN Conference on The Humen Environment) ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยใช้เวลาเตรียมการประชุมครั้งนี้ถึง 3 ปี เพื่อจัดทำร่างข้อเสนอต่างๆ รวมทั้งแผนดำเนินการและปฏิญญาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ มีผู้เข้าร่วมประชุม 1,200 คน จาก 113 ประเทศ ผู้สังเกตุการณ์มากกว่า 1,500 คน จากหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชนและสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ รวมทั้งตัวแทนเยาวชนและกลุ่มนักศึกษาจากทั่วโลก
        ผลการประชุมนับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้หันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมขจัดภยันตรายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลัง คุกคามของเรา ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างชาติทั่วโลก จึงได้มีการกำหนดให้วันแรกของการประชุม คือ วันที่ 5 มิถุนายน เป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” (World Environment Day) พร้อมทั้งได้จัดตั้ง “โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ” หรือเรียกย่อว่า “ยูเนป” (UNEP : United Nation Environment Programe) ขึ้น ซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น และจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ซึ่งในปี 2547 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาติ ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ เพื่อใช้ร่วมกันทั่วโลกว่า Wanted ! Sea and Oceans – Dead or Live ? 


ความเป็นมาของวันสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย


        สำหรับในประเทศไทย มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมขึ้นในปี 2518 เป็นฉบับแรก เรียกว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พุทธศักราช 2518 ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติฯ ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ.2521 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ.2522 ต่อมาในสมัยรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ได้มีร่างพระราชบัญญัติฯ ขึ้นใหม่โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน2535 เรียกว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ และกรมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
        พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พุทธศักราช2535 เป็นพระราชบัญญัติที่มุ่งกระจายอำนาจของการวางแผนและปฏิบัติการการสิ่งแวด ล้อมลงสู่ท้องถิ่นและให้ความสำคัญในเรื่องของเรื่องของการติดตาม ตรวจสอบ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมมลพิษ
        ดังนั้น การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นหน้าที่ของทุกๆ คน ที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ วันสิ่งแวดล้อมโลก

        วันสิ่งแวดล้อมโลก : มีหน้าที่ติดตามและประเมินผลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางด้านสิ่ง แวดล้อม รวมทั้งกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดี โดยมีความห่วงใยในเรื่องของ ดิน น้ำ มลพิษทางอากาศ ในฐานะที่ทำหน้าที่กระตุ้นเพื่อให้มีการปฏิบัติทางสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม และเพื่อให้เป้าหมายบรรลุผล จึงได้กำหนดวิธีการไว้ ดังนี้คือ
        - การสร้างความตื่นตัว ในการเรียนรู้เรื่องของสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษากับประชาชนและนิสิตนักศึกษาทั่วไป
        - ให้การสนับสนุนทางวิชาการ เผยแพร่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้กระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี 
        - ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างให้สถาบันและคนในสถาบันตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป

        นอกจากนี้แล้วผลจากการประชุมรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้รับข้อตกลงจากการประชุมมาดำเนินการจัดตั้ง หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน รวมทั้งประเทศไทย รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518 และก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
        ต่อมาในปี พ.ส. 2535 ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็น 3 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมมลพิษ  กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม  สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม


คำขวัญ วันสิ่งแวดล้อมโลก

 2528 (1985) เยาวชน ประชากรและสิ่งแวดล้อม - Youth, Population and Environment
 2529 (1986) ต้นไม้เพื่อสันติภาพ - A Tree for Peace
 2530 (1987) Theme : Public Participation, Environment Protection and Sustainable Development
 2531 (1988) การมีส่วนร่วมของประชาชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
                    - When people put the environment first, development will last
 2532 (1989) ภาวะโลกร้อน – Global Warming ; Global Warming
 2533 (1990) เด็กและสิ่งแวดล้อม – Children and the Environment (Our Children, Their Earth)
 2534 (1991) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – Climate Change : Need for Global Partnership
 2535 (1992) Only One Earth : Care and Share
 2536 (1993) Poverty and the Environment : Breaking the Vicious Circle
 2537 (1994) โลกใบเดียวครอบครัวเดียวกัน – One Earth, One Family
 2538 (1995) ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมโลก – We The Peoples, United for the Global Environment
 2539 (1996) รักโลก : ดูแลถิ่นฐานบ้านเรา – Our Earth, Our Habitat, Our Home
 2540 (1997) เพื่อชีวิตที่ยั่งยืนบนผืนโลก - For Life on Earth
 2541 (1998) “เศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีวิตยั่งยืน – For Life on Earth “Save our Seas”
 2542 (1999) รักโลก รักอนาคต รักษ์สิ่งแวดล้อม - “Our Earth, Our Future Just Save It”
 2543 (2000) ปี 2000 สหัสวรรษแห่งสิ่งแวดล้อม : ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อโลก เพื่อเรา” – 2000 The Environment Millennium : Time to Act
 2544 (2001) เชื่อมโยงโลกกว้าง ร่วมสร้างสานสายใยชีวิต - CONNECT with the World Wide Web of Life
 2545 (2002) ให้โอกาสโลกฟื้น คืนความสดใสให้ชีวิต - Give Earth a Chance
 2546 (2003) รักษ์น้ำเพื่อสรรพชีวิต ก่อนวิกฤติจะมาเยือน – Water – Two Billion People are Dying for It!
 2547 (2004) ร่วมพิทักษ์ ร่วมรักษ์ทะเลไทย - Wanted ! Sea and Oceans – Dead or Live
 2548 (2005) เมืองเขียวสดใส ร่วมใจวางแผนเพื่อโลก - GREEN CITIES PLAN FOR THE PLANET
 2549 (2006) เพิ่มความชุ่มชื้น คืนสู่ธรรมชาติ - DON’T DESERT DRYLANDS!
 2550 (2007) ลดโลกร้อน ด้วยชีวิตพอเพียง - MELTING ICE-A HOT TOPIC
 2551 (2008) ลดวิกฤติโลกร้อน : เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับแนวคิด สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ - Co2 Kick the Habit ! Towards a Low Carbon Economy
 2552 (2009) คุณคือพลัง ช่วยหยุดยั้งภาวะโลกร้อน – Your Planet Needs You – Unite to Combat Climate Change
 2553 (2010) ความหลากหลายทางชีวภาพ กู้วิกฤติชีวิตโลก – Many Species One Planet One Future
 2554 (2011) ป่าไม้มีคุณ เกื้อหนุนสรรพชีวิต คิดถนอมรักษา – Forests:Nature at your Service
 2555 (2012) คุณคือพลัง สร้างสรรค์เศรษฐกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม – Green Economy: Does it include you
 2556 (2013) กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม – THINK EAT SAVE
 2557 (2014) ยกระดับความคิด แก้วิกฤตน้ำท่วมโลก (Raise your voice not the sea level)
 2558 (2015) ฝัน 7 พันล้านใจ คิดห่วงใยผืนโลก (Seven billion Dreams, One Planet Consumer With Care)
 2559 (2016) หยุดซื้อ หยุดขาย หยุดฆ่า แก้ปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธุ์ (Zero Tolerance For The Illegal Wildlife Trade)
 2560 (2017) ชีวิตฉันผูกพันกับธรรมชาติ - I’m With Nature 
 2561 (2018) รักษ์โลก เลิกพลาสติก (Beat Plastic Pollution : If you can't reuse it, refuse it!)
 2562 (2019) หยุดหมอกควันและอากาศพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Beat Air Pollution) 



กิจกรรมในวันสิ่งแวดล้อมโลก


        การจัดงานในวันสิ่งแวดล้อม อาจจะทำให้ประชาชนและเยาวชนเกิดความคิดและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมและร่วมมือทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศเราไว้ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยังคงมีอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้โลกได้อยู่กับเรานานๆ

จัดนิทรรศการด้านพลังงาน
        การจัดงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนิทรรศการวันสิ่งแวดล้อมโลก ให้โลกสวยด้วยมือเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร่วมมือกันระหว่างชุมชน หรือสถาบัน เพื่อให้ระลึก และช่วยกันอนุรักษ์ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโลก

กิจกรรมการปลูกต้นไม้
        การปลูกต้นไม้ เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป รวมถึงการคัดแยกก่อนจะทิ้งเป็นขยะ เปลี่ยนสภาพนำกลับมาใช้ใหม่ ช่วยกันปลูกต้นไม้อีก 5 เท่าจึงจะเพียงพอ เพราะปริมาณการใช้ไม้และจำนวนพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงในปัจจุบันนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการปลูกต้นไม้โตเร็วมากกว่าที่ปลูกอยู่ในปัจจุบันมากถึง 5 เท่า จึงจะเพียงพอกับการใช้ประโยชน์ในอนาคต

แยกทิ้งเศษกระดาษจากขยะอื่น
        กิจกรรมการแยกขยะ ด้วยการทำโครงการไม่ทิ้งเศษกระดาษลงในถังกับขยะอื่นๆ เพราะจะทำให้กระดาษเปรอะเปื้อนไขมันและเศษอาหารจะทำให้เศษกระดาษนั้นนำไปผลิตใหม่อีกไม่ได้ และแหล่งสร้างขยะกระดาษที่สำคัญก็คือหนังสือพิมพ์ หน้าที่เป็นขยะกระดาษโดยผู้อ่านไม่ได้อ่าน ก็คือหน้าโฆษณาธุรกิจ นั่นคือการทำลายกระดาษสะอาดและสร้างขยะกระดาษให้เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน ส่วนขวดแก้วทุกชนิดที่บรรจุของเมื่อใช้แล้วควรทำความสะอาด และแยกชนิดของแก้ว และแยกสีของแก้วด้วยนำกระป๋องอลูมิเนียมที่ใช้แล้วมาบี้ให้แบนก่อนทิ้ง หรือขายแก่คนรับซื้อเศษโลหะ

        เพราะกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ได้เป็นสาเหตุของการเพิ่มความร้อนให้กับโลก ไม่ว่าจะเป็นการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง การเผาป่าเขตร้อน ได้ทำให้ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจำนวนมากในบรรยากาศ เราสามารถหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการลดการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดความร้อนให้น้อยลง และต้องหยุดการเผาทำลายป่าลงให้ได้ และหันมาปลูกป่าเพื่อให้โลกร่มเย็น เราทุกคนจะต้องช่วยกันปลูกป่าคลุมพื้นที่ว่างเปล่าให้ได้มากที่สุดเพราะป่าเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุดของโลก


แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก


        ทุกชีวิตต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิต มนุษย์ พืช สัตว์ ทุกชีวิตจำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา รวมถึงสิ่งที่มนุษย์คิดค้นสร้างขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย โลกร้อนเกิดภัยพิบัติมากมาย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะร่วมช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมกันแบบจริงๆ จังๆ เพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลานได้เห็น เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติมีอย่างจำกัด

        สร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม
        สร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยการให้ข้อมูลแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ถึงปัญหาและผลกระทบของสิ่งที่มนุษย์ทำกับสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษากับประชาชนและนักศึกษาทั่วไปสร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม
        ให้การสนับสนุนทางวิชาการ และเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี รวมถึงเสริมสร้างให้สถาบันและคนในสถาบันตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม


การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
        การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยทางตรง คือการใช้อย่างประหยัดด้วยการใช้ทรัพยากรเท่าที่มีความจำเป็น เพื่อให้มีทรัพยากรไว้ใช้ได้นานและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด และอาจมีการรีไซเคิล หรือการนำกลับมาใช้ซ้ำอีก สิ่งของบางอย่างเมื่อมีการใช้แล้วครั้งหนึ่งสามารถที่จะนำมาใช้ซ้ำได้อีก เช่น ถุงพลาสติก กระดาษ ฯลฯ หรือสามารถที่จะนำมาใช้ได้ใหม่โดยผ่านกระบวนการต่างๆ เป็นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและการทำลายสิ่งแวดล้อมได้
        การบูรณะซ่อมแซม สิ่งของบางอย่างเมื่อใช้ไปเวลานานอาจเกิดการชำรุดได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการซ่อมแซม โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อให้เกิดความสิ้นเปลืองจะทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีก รวมทั้งการบำบัดและการฟื้นฟู เป็นวิธีการที่จะช่วยลดความเสื่อมโทรมของทรัพยากร
        การใช้สิ่งอื่นทดแทน การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การใช้ใบตองแทนโฟม การใช้พลังงานแสงแดดแทนแร่เชื้อเพลิง การใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี เป็นวิธีการที่จะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการเฝ้าระวังดูแลและป้องกัน เช่น การเฝ้าระวังการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำ เป็นวิธีการที่จะไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย การจัดทำแนวป้องกันไฟป่า เป็นต้น


สิ่งที่ควรทำร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมของโลก

        มาเสริมสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อจะได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไปในอนาคต และมาร่วมช่วยกันป้องกันไม่ให้สิ่งแวดล้อมเกิดการเสื่อมลงมากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาของสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของคนทั้งสิ้น การแก้ไขและวางแผนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในเมืองไทย สาเหตุเกิดจากการลดจำนวนลงของพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารของประเทศ และจากการใช้น้ำกันอย่างฟุ่มเฟือย

ช่วยกันปลูกต้นไม้
        มาช่วยกันเสริมสร้างปลูกจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างทัศนคติในการอนุรักษ์ทรัพยากรกลับมาใช้อย่างรู้คุณค่า ควรจะมาร่วมรณรงค์และประหยัดทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ร่วมมือร่วมใจกันรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีต่อไปในอนาคต เพื่อลูกหลานของเรา เราทุกคนควรมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะและรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้สดใส สมบูรณ์สำหรับทุกคนในอนาคต

การพัฒนาคุณภาพประชาชน
        เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ เกิดความรักความหวงแหน และให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง สนับสนุนการศึกษาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทำได้ทุกระดับอายุ ทั้งในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ และนอกระบบโรงเรียนผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ

การจัดตั้งกลุ่ม
        ด้วยจิตสำนึกในความมีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีต่อตัวเรา การจัดตั้งกลุ่มชุมชน ชมรม สมาคม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การให้ความร่วมมือทั้งทางด้านพลังกาย พลังใจ พลังความคิด เช่น กลุ่มชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของนักเรียน นักศึกษา มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว

ไม่ควรทิ้งผลิตภัณฑ์อันตรายลงแม่น้ำ
        เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟ น้ำยาละลายสี น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรด ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษ ฯลฯ ต้องมีวิธีกำจัดที่ถูกต้องและต้องไม่ทิ้งลงแม่น้ำ

        การเพิ่มออกซิเจนในน้ำมันก็เพื่อช่วยลดปริมาณการเกิดของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ให้ลดน้อยลง เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดมลพิษจากรถยนต์ ด้วยการเพิ่มส่วนผสมของออกซิเจนในน้ำมัน ทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้ถ่ายเทน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วลงในภาชนะที่ปิดฝาแล้วส่งคืนให้กับสถานีบริการ เพราะน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วจากรถยนต์ จะก่อมลภาวะให้เกิดกับแหล่งน้ำและผิวดินได้หากมีการกำจัดที่ไม่เหมาะสม
Comments