วันเทคโนโลยีไทย

ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วันเทคโนโลยีของไทย (19 ตุลาคม) 
        เป็นวันเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน และกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” โดยมีการเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544
        จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ได้มีมติว่า ให้ความเห็นชอบในการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันเทคโนโลยีของไทย" เนื่องจากวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถทำให้ฝนตกลงตรงเป้าหมาย ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศ เป็นครั้งแรก โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "วันเทคโนโลยีของไทย" ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยี ที่คิดค้นประดิษฐ์และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้น ให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย 


กิจกรรมในวันเทคโนโลยีแห่งชาติ 

        กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" โดยเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2544 

        กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ในฐานะ "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" อีกทั้งมีนิทรรศการเทคโนโลยี เพื่อแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ที่ค้นคิดโดยคนไทย และมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น รวมทั้งมีการสัมมนา อภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย 

พระปรีชาของพระบิดาแห่งเทคโนโลยี

        ด้านการเกษตร ทรงเน้นเรื่องการค้นเค้าทดลอง วิจัยพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ชนิดต่าง ๆ ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช การศึกษาสภาพของดิน และพัฒนาให้สามารถทำการเกษตรได้ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่แนะนำให้เกษตรกร นำไปปฏิบัติได้ด้วยราคาถูกและใช้ เทคโนโลยีที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ เสริมสร้าง สิ่งที่ชาวบ้านชนบทขาดแคลนและต้องการ คือความรู้ในด้านเกษตรกรรมและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม ดังนั้นใน พ.ศ. 2528 จึงได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ตั้งศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจาก พระราชดำริขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติต่อได้
        นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงศึกษาค้นคว้าและทรงคิดค้นเทคนิควิธี หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ หลายวิธีการ เช่น โครงการ “ฝนหลวง” แนวพระราชดำริการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร “ทฤษฏีใหม่” แนวพระราชดำริการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด “แกล้งดิน”แนวพระราชดำริ การป้องกันการเสื่อมโทรมและการพังทลายของดินโดย “หญ้าแฝก” แนวพระราชดำริ การปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูกแนวพระราชดำริ “ป่าเปียก” เพื่อความชุ่มชื้นของดินและเป็นแนวป้องกันไฟป่า และแนวพระราชดำริพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ “ฝายชะลอความชุ่มชื้น”

        ด้านการพัฒนาแหลงน้ำ ได้พระราชทานพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ นำไปพิจารณาและดำเนินการก่อนสร้างแหล่งน้ำ 5 ประเภท คือ 
            (1) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค 
            (2) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร 
            (3) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 
            (4) โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม 
            (5) โครงการบรรเทาอุทกภัย

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นคว้า ทดลอง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำ ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยุสื่อสสาร ดาวเทียม และคอมพิวเตอร์มาใช้ในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนสามารถช่วยเหลือเกษตรกรใน ภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงอีกทั้งยังเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้แก่อ่างและเขื่อน เก็บกักน้ำเพื่อการชลประทาน และการผลิกกระแสไฟฟ้า

        ด้านการป้องกันน้ำท่วม พระราชทานพระราชดำริให้มีการก่อสร้าง คันน้ำ หรือผนังเลียบลำน้ำนอกจากนั้นยังได้พระราชทานการก่อสร้างทางผันน้ำ ขุดลอกตกแต่งลำน้ำ นอกจากนั้นได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ โครงการ “แก้มลิง” โดยการขุดลอกคลองต่าง ๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้ในบ่อพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเล เมื่อปริมาณน้ำทะเลจะลดลง
        
        ด้านสิ่งแวดล้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ในการบำบัดน้ำเสียโดยอาศัยวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีหลายวิธีการ เช่น โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย สระเติมอากาศ ชีวภาพบำบัด การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ

        ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการทรงงานต่าง ๆ โดยพระราชทานพระราชดำริ ให้กรมแผนที่ทหาร จัดทำแผนที่ชนิดต่าง ๆ ถวาย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องของพื้นที่นั้น ๆ มาประกอบพระราชดำริ ในการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์เสมอ เพื่อความรวดเร็วในการติดต่อประสานงาน ในอันที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาขนได้ทันท่วงที

        ใน พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงจัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นในพระราชวังสวนดุสิต ต่อมาจึงย้ายไปตั้งในบริเวณพระตำหนังจิตลดารโหฐาน พระราชประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.คือให้พสกนิกรมีโอกาสติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้สถานีวิทยุยังทำหน้าที่ เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมจากภัยพิบัติต่าง ๆ

        ด้านคอมพิวเตอร์ ทรงคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. เผยแพร่ทางสื่อมวลชน ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยหลายแบบและทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียบเรียงเสียง ประสานและพิมพ์โน้ตเพลงสำหรับเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เป็นต้น นากจากนี้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2538 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,472,900 บาท ให้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา

        ด้านพลังงานทดแทน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการพึ่งพาพลังงานนำเข้า จึงมีพระราชดำริให้เตรียมรับกับปัญหาด้านพลังงานมากว่า 40 ปี เมื่อ พ.ศ. 2540 ทรงมีพระราชดำริให้นำพืชผลการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน เพื่อให้คนไทยพึ่งตัวเองได้ รวมทั้งรองรับปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำที่อาจจะเกิดขึ้น โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนมีอาทิ
        1. การพัฒนาแก๊สโซฮอล์ ใน พ.ศ. 2528 ทรงมีพระราชดำรัสให้ศึกษาการผลิตเอทานอลจากอ้อยเพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดแคลน น้ำมันและราคาอ้อยตกต่ำ ได้มีการปรับปรุงคุณภาพและกำลังการผลิตเอทานอลอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงความบริสุทธิ์ของเอทานอลจาก ๙๕% ให้มีความบริสุทธิ์ ๙๙.๕% และได้ทดลองผสมเอทานอลด้วยสัดส่วน 10 % ในน้ำมันเบนซิน ซึ่งใช้ได้ผลและเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 บริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจำกัด (หมาชน) ได้น้อมเกล้าฯ ถวายสถานีบริการแก๊สโซฮอล์เพื่อให้บริการแก่รถยนต์ที่ใช้ในโครงการส่วน พระองค์สวนจิตรลดา
        2. ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช เพื่อใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล โดยทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่างลึก จังหวัดกระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก ที่ศูนย์การพัฒนาศึกษาพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ต่อมาใน พ.ศ. 2543 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กองงานส่วนพระองค์ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพร้อม ทดลองน้ำมันปาล์มกับเครื่องยนต์ดีเซลของกองงานส่วนพระองค์ที่วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระปรีชาสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นโครงการพัฒนาน้ำมันปาล์มเพื่อใช้กับ เครื่องยนต์ดีเซลนี้ ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองใน โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำไปจัดแสดงในงาน “Brussels Eureka 2001” ซึ่งเป็นนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติประจำปี 2544 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อักทั้งโครงการดังกล่าวยังได้รับสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยจากกระทรวงพาณิชย์
        นอกจากนี้ยังมีโครงการตามพระราชดำริในเรื่องพลังงานทดแทนอื่น ๆ อีก เช่น การผลิตดีโซฮอล์ซึ่งเป็นการผลิตเชื้อเพลิง จากการผสมเอทานอลกับน้ำมันดีเซล ผลการทดลองพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ และลดควันดำถึง 50 % หรือพระราชดำริให้โครงการส่วนพระองค์สวน จิตรลดาทดลองผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลโคนม ซึ่งได้ก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซติดไฟกว่า 50 % และก๊าซอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

        ด้านเทคโนโลยีการจัดการเรียนการสอน : การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม  โดยในปี พ.ศ.2538 ได้ก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้น และได้ถ่ายทอดสดออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2538  ในหลักสูตรมัธยมศึกษา 6 ชั้น 6 ช่อง และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ได้ออกอากาศการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ทั้งนี้ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครู โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทุนประเดิม 50 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการออกอากาศช่องการอาชีพ ช่องอุดมศึกษา และรายการนานาชาติอีกอย่างละ 1 ช่อง รวมทั้งสิ้น 15 ช่อง ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมงเป็นประจำทุกวัน ซึ่งนอกจากการถ่ายทอดและเทปการเรียนการสอนหลักสูตรขั้นพื้นฐานแล้ว ยังมีรายการสอนภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน รายการสารคดีพระราชทาน “ศึกษาทัศน์” และสารคดีต่างประเทศ สามารถให้บริการทางการศึกษาครบวงจรโดยไม่คิดมูลค่าถึง 15 สถานี ให้บริการการศึกษาครบวงจร ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาชุมชน และอุดมศึกษา การออกอากาศผ่านดาวเทียม ผู้ที่มีจาน KU Band หรือเป็นสมาชิก True Vision จะสามารถชมได้ทั้ง 15 ช่อง ตั้งแต่ช่อง True 186 ถึง 199 ซึ่งเป็น ระบบ DTH (Direct To Home)  
        โครงการ ครูพระราชทานสัญญาณจากฟ้า 
        ระบบ eLearning เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้กว้างขวางและง่ายดายขึ้น มูลนิธิฯ ได้เพิ่มช่องทางให้สามารถรับชมการเรียนการเรียนการสอนได้อีก 2 ช่องทาง คือ 
            1) ระบบ  e-Learning  ผ่านเว็บไซต์ www.dlf.ac.th  โดยเลือกเข้าชมได้ทั้งการถ่ายทอดสด(Live Broadcast) หรือเลือกชมรายการย้อนหลัง(On Demand)  ได้ตามอัธยาศัย  
            2)  Application “DLTV on Mobile” โดยสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อรับชมบนมือถือหรืออุปกรณ์พกพาอื่น ๆ ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android หรือ IOS  และ 
            3) eDLTV  นำเนื้อหาการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและคู่มือครูปลายทางที่มูลนิธิฯ จัดทำ เช่น วีดิทัศน์  สไลด์บรรยาย ใบความรู้ ใบงาน เป็นต้นมา แปลงเป็นเนื้อหา eLearning เรียกว่า “eDLTV ระดับมัธยมศึกษา”   สามารถเรียน online ได้ที่ http://edltv.thai.net  ต่อมาปี 2552 ได้พัฒนาระบบ “eDLTV เพื่อพัฒนาอาชีพ” สามารถเรียน online ได้ที่ http://edltv.vec.go.th 
        ในปี พ.ศ. 2554 มูลนิธิฯ ร่วมกับ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ จัดทำระบบ“eDLTV ระดับประถมศึกษา” โดยกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนงบประมาณ สามารถเรียน online ได้ที่ http://edltv.dlf.ac.th โดยทั้งหมดสามารถเรียนแบบออฟไลน์ (off line) ได้ โดยโรงเรียนบันทึกข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) หรือ external Hard drive และนำไปเชื่อมต่อใช้งานบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer) หรือคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Laptop) 
        การพัฒนาครูด้วยระบบประชุมทางไกลผ่านวีดิทัศน์ (Videoconference) จัดโครงการฝึกอบรมครูผ่านระบบวีดิทัศน์ และถ่ายทอดออกอากาศสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา โดยมีความร่วมมือกับองค์การ หน่วยงาน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงเทพฯ University of Oregon รัฐโอเรกอน Soka University of America รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน ให้การสนับสนุนด้านโครงข่ายทั้งหมด รวมทั้งสถานที่ในการจัดอบรม

        เทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียง ตัวอย่างบางส่วนที่ทรงใช้ ยังมีวิทยาการและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทรงใช้ในการพัฒนาอีกจำนวนมาก เช่นด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ตลอดจนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
        ในการที่ทรงนำเทคโนโลยีความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้อันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและนานาประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2536 นาย Richard G. Grimshaw หัวหน้าสาขาวิชาเกษตร ฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชียของธนาคารโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด เพื่อเฉลิมพระเกียรติในความสัมฤทธิ์ผล ทางด้านวิชาการและการพัฒนา ในการส่งเสริมเทคโนโลยีการปลูกหญ้าแฝก ในระดับระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ ดินและน้ำทำให้พสกนิกรไทยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงพร้อมใจกันเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย”

        พระองค์ทรงเป็นนักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำริ และที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หลายด้าน ตัวอย่างเช่น


        กังหันน้ำชัยพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือ "กังหันชัยพัฒนา" เพื่อทำหน้าที่เติมออกซิเจนลงไปในน้ำ เป็นการลดมลภาวะทางน้ำถือได้ว่า เป็นประวัติศาสตร์ของการออกสิทธิบัตรแก่สิ่งประดิษฐ์ของไทย

        การออกแบบสายอากาศ(Antenna) เพื่อใช้กับวิทยุสื่อสารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในช่วงต้นรัชสมัย ประเทศไทยยังขาดแคลนเทคโนโลยีขั้นสูง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (HS1A) ได้ทรงหาหนทางพึ่งพาตนเอง พัฒนาอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อขจัดปัญหาการติดต่อกับพื้นที่ห่างไกล

        
ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในระยะแรก พระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตุคลื่นวิทยุรบกวนกันระหว่างเครือข่ายทำให้ไม่อาจติดต่อทางวิทยุสื่อสารได้ ทรงมีพระราชดำริว่าสายอากาศน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญ และพระองค์ทรงอาศัยพื้นฐานทางวิทยุศาสตร์ที่เคยศึกษา ได้ทรงค้นคว้าเพิ่มเติมและมีพระราชปฏิสันถารกับผู้รู้

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มต้นทดลองงานสายอากาศด้วยพระองค์เอง ปรับค่าต่างๆ จนได้สายอากาศที่มีประสิทธิภาพทั้งในการส่งและการรับ สายอากาศที่ดีที่สุดที่ทรงทดลองได้นั้นนอกจากสัมพันธืกับเครื่องรับส่งวิทยุ และสายส่งแล้ว ยังมีค่าสะท้อนกลับของคลื่นวิทยุ หรือที่เรียกว่า Standing Wave Ratio (SWR) ที่ได้มาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานสากลซึ่งนักวิทยุสื่อสารได้ปรับใช้กันทั่วไป

        เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ราคาเครื่องรับส่งวิทยุเมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศแล้ว มีมูลค่าสูงแต่เป็นสิ่งจำเป็นในงานพัฒนาประเทศและภารกิจด้านความมั่นคง หลังจกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงค้นคว้าและทดลองสายอากาศด้วยพระองค์เองเป็นเบื้องต้นแล้ว จึงมีพระราชดำริว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าจะสามารถพัฒนาขึ้นได้เองภายในประเทศ

        งานพัฒนาสายอากาศซึ่งเป็นพระราชดำริที่ได้ริเริ่มครั้งแรกของโลกจึงได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2512 ได้พระราชทานให้กองทัพและนักวิทยาศาสตร์ไทยร่วมกันค้นคว้าวิจัย ท่ามกลางแดดจัดยามบ่ายพระมหากษัตริย์ประทับบนดาดฟ้าพระตําหนักจิตรลดารโหฐานพระราชทานกระแสพระราชดำรัส เกี่ยวกับสายอากาศตามพระราชประสงค์จำนวนกว่า 20 รายการ แก่ ดร.สุธี อักษรกิตติ์ จึงได้ออกแบบและสร้างสายอากาศถวาย ตามพระราชประสงค์ จนกระทั่งสายอากาศเหล่านั้นได้รับพระราชทาน ได้แก่


        "เกษตรทฤษฎีใหม่" เป็นการบริหารจัดการที่ดินเพื่อเกษตรกร ให้มีสภาพการใช้งานที่สร้างความยั่งยืนมากกว่าการทำการเกษตร โดยไม่มีการแบ่งส่วนของที่ดิน เพื่อใช้ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำ และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก เป็นต้น ฯลฯ 


        โครงการ "แกล้งดิน" โดยทรงพบว่า ดินพรุเป็นดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงมีพระราชดำริว่า ควรแกล้งทำให้ดินเปรี้ยวจนถึงที่สุด แล้วทำ "วิศวกรรมย้อนรอย" หาทางปรับปรุงดินที่เปรี้ยวนั้น เพื่อจะได้รู้วิธีแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดสภาพเปรี้ยวแบบที่เคยเป็น จากนั้นจึงมีการปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีการต่างๆ จนทำให้พื้นดินที่เปล่าประโยชน์ และไม่สามารถทำอะไรได้ กลับฟื้นคืนสภาพที่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง



         หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน ใน ปี พ.ศ.2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถามอาจารย์สนั่น สุมิตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ (ปัจจุบันนี้คือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ) ถึงการทำหุ่นยนต์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ จำนวน 20,000 บาท เพื่อสร้างหุ่นยนต์ตามพระราชประสงค์ ซึ่งอาจารย์สนั่น สุมิตร และอาจารย์สวัสดิ์ หงส์พร้อมญาติ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ เป็นแม่งานในการสร้างหุ่นยนต์พระราชทานนี้ เมื่อหุ่นยนต์คุณหมอพระราชทานสร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้นำหุ่นยนต์คุณหมอไป แสดงในงานกาชาด ที่สถานเสาวภา หุ่นยนต์คุณหมอ พระราชทานสามารถเดินได้ ยกมือไหว้ พูด ฟัง โต้ตอบ และทำงานได้อีกหลายอย่างเป็นอย่างดี หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน เป็นหุ่นยนต์แต่งกายแบบคุณหมอตัวแรกของโลก ที่มีรูปร่างคล้ายคน และขนาดเท่าคนจริง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหุ่นยนต์คุณหมอแก่วิทยาลัย เทคนิคกรุงเทพฯ สำหรับใช้ประกอบการสอนนักศึกษา นับได้ว่าพระราชดำริเรื่องหุ่นยนต์คุณหมอของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง ในประวัติศาสตร์ของหุ่นยนต์ไทย
Comments