วันอัฏฐมีบูชา

วันอัฏฐมีบูชา : วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำแห่งเดือนวิสาขะ (เดือน ๖)

https://sites.google.com/a/hi-supervisory5.net/npt2/home/67941c8507cd9705a8b7422b1ed0bc43.jpg

        งานบุญประเพณี วันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง หรือวันอัฏฐมีบูชา ณ วัดใหม่สุคนธาราม ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี สืบทอดติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันและมีเพียงหนึ่งเดียวในภาคกลาง 



ประวัติความเป็นมา

        เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว ๘ วัน มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งเมืองกุสินารา เป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้น เมื่อเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วนได้ประกอบพิธีบูชาขึ้น มีการเวียนเทียนเป็นต้น แต่ไม่ทั่วไปทั่วราชอาณาจักร โดยจะประกอบพิธีในบางวัดเท่านั้น ตามแต่ความศรัทธาของท้องถิ่น ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เช่น ประเพณีถวายพระเพลิงฯ จำลองที่ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ที่ได้จัดพิธีนี้สืบทอมานานกว่า ๕๐ ปีแล้ว และประเพณีอัฎฐมีบูชาของ วัดใหม่สุคนธาราม ต.วัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่รักษาสืบสานมายาวนานกว่า ๑๒๔ ปีแล้ว เป็นต้น

        ภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว กษัตริย์และ ผู้ครองแคว้นต่าง ๆ รวม ๗ แคว้น ได้แก่ (๑) พระเจ้าอชาตศัตรู เมืองมคธ  (๒)  กษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี  (๓) กษัตริย์ศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์  (๔) กษัตริย์ถูลี เมืองอัลกัปปะ  (๕) กษัตริย์โกลิยะ เมืองรามคาม  (๖) มหาพราหมณ์ เมืองเวฏฐทีปกะ และ (๗) กษัตริย์มัลละ เมืองปาวา  ได้ส่งทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ตอนแรกพวกเจ้ามัลละ แห่งนครกุสินารา ไม่ยอมแบ่งให้จนเกือบจะเป็นชนวน ให้เกิดสงครามระหว่างพวกเจ้ามัลละกับกษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง ๗ แคว้นที่มาขอส่วนแบ่ง แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งก็ระงับลงได้โดยมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ “โทณะ” เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกษัตริย์ และพราหมณ์เหล่านั้น ความว่า “ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงฟังคำอันเอกของข้าพเจ้าพระพุทธเจ้าของเรา ทั้งหลาย เป็นผู้กล่าวสรรเสริญขันติ การจะสับประหารกันเพราะส่วนพระสรีระ ของ พระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุคคลเช่นนี้ไม่ดีเลย ขอเราทั้งหลายทั้งปวง จงยินยอมพร้อมใจยินดีแบ่งพระสรีระออกเป็นแปดส่วนเถิด ขอพระสถูปจงแพร่หลายไป ในทิศทั้งหลาย ชนผู้เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุมีอยู่มาก ฯ” (ทีฆนิกาย มหาวรรค. ๑๐/๑๕๘/๑๓๒)

ความสำคัญ

        โดยที่วันอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันที่ตรงกับวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเป็นวันที่ชาวพุทธต้องวิปโยค และสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง และเป็นวันควรแสดงธรรมสังเวชและระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล

ประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลอง

        ธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา  การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฏฐมีบูชานี้ มีไม่กี่แห่งที่จัด เพราะในเมืองไทยมักไม่เป็นที่นิยม แม้สมัยก่อนอาจจะมีงานฉลองในพิธีวันอัฏฐมีบูชาบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ก็เลิกราไปมากแล้ว คงมีไม่กี่วัด ส่วนการบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ก็เหมือนกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และมีการเวียนเทียนในตอนค่ำ
        ในประเทศไทย พบประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองที่ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยประเพณีนี้มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ในปัจจุบันประเพณีนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยจัดเป็นงาน "วันอัฏฐมีบูชารำลึก เมืองทุ่งยั้ง" ณ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นประจำทุกปี โดยกำหนดจัดงานในวันวิสาขบูชา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ถึงวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ รวม ๙ วัน กิจกรรมภายในงานมีการแสดง แสง สี เสียง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน จนถึงพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า(จำลอง) มีประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียงเข้าชมเป็นจำนวนมาก (งานวันอัฏฐมีบูชา ปี ๒๕๕๙ ที่วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ คลิก)
        นอกจากนี้ยังพบประเพณีการจำลองถวายพระเพลิงอีกแห่งหนึ่งในภาคกลาง คือที่ วัดใหม่สุคนธาราม จัดโดย องค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่มีการสืบสานประเพณีนี้มายาวนาวกว่า ๑๒๔ ปี ซึ่งถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในลุ่มน้ำภาคกลาง ที่รักษาประเพณีนี้มายาวนานที่สุด เป็นประเพณีพื้นบ้านที่ชาวบ้านร่วมกันจัดขบวนแห่เครื่องสักการะ ตะไล บั้งไฟ มาจุดเพื่อเป็นพุทธสักการะ และมีขบวนพุทธประวัติ จำลองหลักธรรมคำสอน ก่อนที่จะมีพิธีการจำลองการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งมีประชาชนในชุมชนและทั่วไปแห่แหนกันมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก  (งานวันอัฏฐมีบูชา ปี ๒๕๕๙ ที่วัดใหม่สุคนธาราม ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม คลิก)

พิธีอัฏฐมีบูชา

        จังหวัดนครปฐม ร่วมกับ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม และองค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด จัดงานบุญประเพณี "อัฏฐมีบูชา” ณ วัดใหม่สุคนธาราม ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งนับเป็น 1 ใน 2 แห่งของประเทศไทย บรรดาพุทธศาสนิกชนของตำบลวัดละมุด และตำบลใกล้เคียง ได้พร้อมใจกันจัดงานประเพณี “อัฏฐมีบูชา” สืบทอดติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 124 ปี ถือเป็นงานบุญประเพณีประจำท้องถิ่น ซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียวในภาคกลาง ที่ยังคงสืบสานอยู่คู่ศาสนาจวบจนปัจจุบัน สำหรับวันอัฏฐมีบูชา ตรงกับแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชา โดยประเพณีอัฏฐมีบูชากำหนดจัดขึ้นเพื่อร่วมน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระพุทธองค์ผู้ทรงอันประเสริฐ ซึ่งกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาถวายเป็นพุทธบูชา การแสดงพระธรรมเทศนา การถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ การจัดขบวนแห่พุทธประวัติ ขบวนคติธรรม นรกภูมิ ขบวนพุ่มผ้าป่า ขบวนสมมุติเหตุการณ์พิธีอัญเชิญพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง นำโดยคณะสงฆ์หลายร้อยรูป พร้อมด้วยคณะพราหมณ์ เทวดา นางฟ้า และสาธุชน เวียนทักษิณาวัตร แล้วอัญเชิญประดิษฐานเหนือจิตกาธาน เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ นอกจากมีการบรรยายธรรม แล้วยังมีการสาธิตศิลปะการแทงหยวกกล้วย โดยปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันหาดูยากและเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น การแสดงพื้นบ้าน การแสดงของคนในชุมชน และการแข่งขันตะไลลอดบ่วงที่หาชมได้ยาก
        การประกอบพิธีอัฏฐมีบูชานั้น นิยมทำกันในตอนค่ำและปฏิบัติอย่างเดียวกันกับประกอบพิธีวิสาขบูชา ต่างแต่คำบูชาเท่านั้น 

คำถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันอัฏฐมีบูชา

        ยะมัมหะ โข มะยัง, ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ, อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุคะโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวา สวากขาโต โข ปะนะ, เตนะ ภะคะวา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ. สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ, ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย อัญชลีกะระณีโย. อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ. อะยัง โข ปะนะ ถูโป(ปฏิมา) ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ กโต (อุททิสสิ กตา) ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ, ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตวา, ปะสาทะสังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ, อิมัง วิสาขะปุณณะมิโตปะรัง อัฏฐะมีกาลัง, ตัสสะ ภะคะวะโต สรีรัชฌาปะนะกาละสัมมะตัง ปัตวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปะ-, ปุปผาทิสักกาเร คะเหตวา, อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ถูปัง(ปะฏิมาฆะรัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา.
        สาธุ โน ภันเต ภะคะวา, สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ญาตัพเพหิ คุเณหิ, อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต, สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.



อ้างอิง/เพิ่มเติม
   วันอัฏฐมีบูชา จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
    วันอัฏฐมีบูชา วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ จากเว็บ DMC
    วันอัฏฐมีบูชา : พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า (Cybervanaram.net)
    ประเพณีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง > คลิก
    เล่าขานตำนานเมืองสาปยา อัฎฐมีบูชา "รำลึก พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ" > คลิก
    วันอัฏฐมีบูชา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ > คลิก
    พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ที่วัดกลาง อยุธยา > คลิก
    พระปางถวายพระเพลิง วัดอินทาราม แขวงบางยี่เรือ กรุงเทพมหานคร > คลิก








กิจกรรมวันอัฏฐมีบูชา

วัดไร่ขิง พระอารามหลวง
 อ.สามพราน จ.นครปฐม
2561 > คลิก
2562 > คลิก

วัดใหม่สุคนธาราม
ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 
อัลบั้มภาพ 2561 > คลิก
อัลบั้มภาพ 2562 > คลิก

2562

2561

2560

2559

2558

2557

2556


พิธีอัฐมีบูชา อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

   การแสดงแสง สี เสียง ชุด อัฐมีบูชารำลึก วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์
ประจำปี 2561 > คลิก
ประจำปี 2560 > คลิก
ประจำปี 2559 > คลิก
ประจำปี 2558 > คลิก
ประจำปี 2557 > คลิก



Comments