- หลักฐาน 3 ด้าน 13 ตัวชี้วัด - สิ่งที่ต้องทำและต้องมีในการทำหน้าที่ครูเพื่อการทำวิทยฐานะ - การขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์ - การประกันคุณภาพฯ ตามมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แม้ล่าสุดที่ประชุม ก.ค.ศ. มีมติให้ยกเลิกการบันทึกประวัติการปฏิบัติงาน (Logbook) สำหรับข้าราชการครู แต่ไม่ได้เป็นการยกเลิก PLC หรือหลักฐานชั่วโมงการปฏิบัติงาน ชั่วโมงการอบรมและพัฒนา และต้องผ่านการรับรองจากผู้อำนวยการสถานศึกษา เพราะยังคงต้องมีมาตรฐานและการประเมินสมรรถนะของข้าราชการครูเอาไว้เช่นเดิมตามเกณฑ์ ว21/2560 ดังนั้น คุณครูจึงต้องดำเนินการจัดทำเอกสาร หลักฐานและร่องรอยในการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครู ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ 3 ด้าน รวม 13 ตัวชี้วัด กับการทำวิทยฐานะตามเกณฑ์ ว21/2560 และการประเมินผลการปฏิบัติงานตามเกณฑ์ ว20/2561 ของข้าราชการครู สังกัด สพฐ. ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แสดงดังตารางในภาพ หรืออาจกล่าวได้ว่า เอกสาร หลักฐานและร่องรอยดังกล่าว เป็นสิ่งที่คุณครูต้องทำอยู่แล้วในหน้าที่ของครู ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ในการประเมินได้ 3 เรื่อง ดังนี้ 1) ว21/2560 หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งได้ประกาศใช้ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ว 21 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ส่วนหนึ่งของเกณฑ์นี้ได้มีการกำหนดว่า ครูต้องมีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ สายงานการสอน ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปีการศึกษา ติดต่อกัน นับถึงวันสิ้นปีการศึกษาก่อนวันที่ยื่นคำขอ ซึ่งจะต้องมีการประเมินและมีผลการประเมินเป็นไปตามเกณฑ์การตัดสินแต่ละวิทยฐานะตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์นี้ ไม่น้อยกว่า 3 ปีการศึกษา (ศึกษาหลักเกณฑ์ได้จากลิงก์นี้ > คลิก) โดยพิจารณาจากข้อมูลที่บันทึกไว้ในแบบรายงานผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครู รายปีการศึกษา (วฐ.2) (ดาวน์โหลดได้จาก > คลิก) การประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้ เป็นการประเมินการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบ ตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ซึ่งข้าราชการครูทุกคนต้องมี การประเมิน 3 ด้าน รวม 13 ตัวชี้วัด คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน (8 ตัวชี้วัด) ด้านการบริหารจัดการชั้นเรียน (3 ตัวชี้วัด) และด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพ (2 ตัวชี้วัด) เป็นปกติทุกปีการศึกษา โดยเมื่อสิ้นปีการศึกษาผู้ดำรงตำแหน่งครู ต้องประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง ตามแบบ วฐ.2 เสนอผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้ขอรับการประเมินและผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องเป็นผู้รับรองข้อมูล เอกสาร และหลักฐานเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขอด้วย 2) ว20/2561 หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งได้ประกาศใช้ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.7/ว 20 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2561 (ศึกษาหลักเกณฑ์ได้ จากลิงก์ > คลิก) ที่ได้กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานให้ดำเนินการประเมินปีละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ประเมินผลการปฏิบัติงาน ระหว่างวันที่ 1ต.ค. – 31 มี.ค. ของปีถัดไป ครั้งที่ 2 ประเมินผลการปฏิบัติงาน ระหว่างวันที่ 1เม.ย – 30 ก.ย. ของปีเดียวกัน องค์ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงาน มี 2 องค์ประกอบ คะแนนรวม 100 คะแนน องค์ประกอบที่ 1 การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน 70 คะแนน องค์ประกอบที่ 2 การประเมินการปฏิบัติตนในการรักษาวินัย คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณ 30 คะแนน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน 70 คะแนนขององค์ประกอบที่ 1 นั้น เป็นการประเมิน 3 ด้าน รวม 13 ตัวชี้วัดเช่นเดียวกันกับหลักเกณฑ์ ว21/2560 ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นจึงสามารถใช้เอกสาร หลักฐานและร่องรอยในการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครูร่วมกันได้ | 3) มาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ > คลิก) ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่งจะต้องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับการประเมิน 3 ด้าน รวม 13 ตัวชี้วัดตามหลักเกณฑ์ ว21/2560 และ ว20/2561 ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว กล่าวคือ เอกสาร หลักฐานและร่องรอยในการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครู 3 ด้าน รวม 13 ตัวชี้วัด จะมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับมาตรฐานที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (แสดงความสัมพันธ์ดังแถบสีแต่ละคอลัมภ์ในตาราง) ซึ่งประกอบด้วย 3.1 จัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ 3.2 ใช้สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ และแหล่งเรียนรู้ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 3.3 มีการบริหารจัดการชั้นเรียนเชิงบวก 3.4 ตรวจสอบและประเมินผู้เรียนอย่างเป็นระบบและนำผลมาพัฒนาผู้เรียน 3.5 มีการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อมูลสะท้อนกลับเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ ทั้งนี้ กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูตามมาตรฐานที่ 3 จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานที่ 1 โดยมีการบริหารจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา ตามมาตรฐานที่ 2 ที่จะส่งเสริม สนับสนุนด้านต่างๆ ให้การจัดการศึกษาของโรงเรียนเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้ เอกสาร หลักฐานและร่องรอยในการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครู 3 ด้าน รวม 13 ตัวชี้วัดที่ครูต้องทำและต้องมี จะสามารถนำมาใช้ในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาได้นั่นเอง ดังนั้น หากมองในแง่ดี นี่จึงเป็นการบูรณาการ ลดภาระงานของครูและลดความซ้ำซ้อนของการประเมินต่าง ๆ เอกสาร หลักฐานและร่องรอยในการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครู ทั้ง 3 ด้าน รวม 13 ตัวชี้วัด ล้วนเป็นงานในหน้าที่ที่ครูทุกคนต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่มาจัดทำและเรียบเรียงให้เป็นระบบ ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งทุกปีการศึกษาครูควรจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานรายบุคคล (SAR) เพื่อรวบรวมเอกสาร หลักฐานไว้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องอันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวครู ในเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และจะส่งผลต่อการจัดการศึกษา ของโรงเรียนที่มีคุณภาพ ตามมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป การจัดทำเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในตารางควรจัดให้ครบถ้วนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงาน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. – 31 มี.ค. ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จะพิจารณาขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์ตามหลักเกณฑ์ ว20/2561 โดย ดร.กอบวิทย์ พิริยะวัฒน์ ศึกษานิเทศก์ สพม.2 |
วิทยฐานะ/วPA >